‘แผงโซลาร์ลอยน้ำ’ นวัตกรรมใหม่เพื่อพลังงานสะอาด

‘แผงโซลาร์ลอยน้ำ’ นวัตกรรมใหม่เพื่อพลังงานสะอาด

หนึ่งในนวัตกรรมที่ร้อนแรงที่สุดสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ คือ floating photovoltaics (FPV) หรือแผงโซลาร์บนโครงสร้างที่ลอยอยู่ในน้ำ รวมทั้งในทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ และทะเล บางโครงการในเอเชียมีแผงโซลาร์หลายพันแผงเพื่อสร้างพลังงานหลายร้อยเมกะวัตต์

แผงโซลาร์ลอยน้ำ หรือ FPV มีจุดเริ่มต้นอยู่ในเอเชียและยุโรปที่ซึ่งมีเหตุผลทางเศรษฐกิจมากมายบวกกับการมีที่ดินเปล่าที่มีมูลค่าสูงสำหรับการเกษตร

ระบบขนาดปานกลางระบบแรกถูกติดตั้งที่ประเทศญี่ปุ่น และที่โรงกลั่นไวน์ในแคลิฟอร์เนียในปี ค.ศ. 2007 และ 2008

บนพื้นดิน โครงการที่มีขนาดหนึ่งเมกะวัตต์จะต้องใช้พื้นที่ระหว่าง 10,000 – 16,000 ตร.ม. แต่โครงการโซลาร์ลอยน้ำนั้นจะน่ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหากสามารถสร้างขึ้นบนแหล่งน้ำที่อยู่ติดกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีสายส่งอยู่แล้ว

ส่วนใหญ่แล้ว โครงการที่มีขนาดใหญ่จะอยู่ในประเทศจีนและอินเดีย นอกจากนี้ยังมีโรงงานขนาดใหญ่ในบราซิล โปรตุเกส และสิงคโปร์ด้วย

ฟาร์มโซลาร์ลอยน้ำขนาด 2.1 กิกะวัตต์ที่ถูกเสนอให้สร้างขึ้นบนพื้นที่ราบน้ำขึ้นน้ำลงบนชายฝั่งทะเลเหลืองในเกาหลีใต้ จะมีแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 5 ล้านแผงบนพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตรที่ติดป้ายราคา 4 พันล้านดอลลาร์ กำลังเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนกับการที่มีรัฐบาลชุดใหม่ในกรุงโซล โดยประธานาธิบดี ยูน ซุก ยอล กล่าวว่า เขาต้องการที่จะเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์มากกว่าพลังงานแสงอาทิตย์

แผงโซลาร์ลอยน้ำ

นอกจากนี้แล้ว เทคโนโลยีที่ว่านี้ยังสร้างความหวังให้กับบรรดานักวางแผนในแถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าในแอฟริกา ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเข้าถึงไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดในโลก และมีปริมาณแสงแดดมากมาย

Sika Gadzanku นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนแห่งชาติของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ในโคโลราโด อธิบายว่า สำหรับประเทศที่พึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำเป็นจำนวนมาก จะมีข้อกังวลว่าการผลิตไฟฟ้าจะลดลงในช่วงที่เวลาแห้งแล้ง และด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็มีการคาดหวังว่าจะได้เห็นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ FPV จะเป็นตัวเลือกของพลังงานหมุนเวียน

“ดังนั้น แทนที่จะต้องพึ่งพาพลังงานน้ำ ก็สามารถใช้ FPV ให้มากขึ้นและลดการพึ่งพาพลังน้ำ ทำให้ในช่วงฤดูแล้งก็สามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานโซลาร์ลอยน้ำแทนได้” นักวิจัยผู้นี้กล่าว

ผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า การครอบคลุมแหล่งกักเก็บพลังงานน้ำด้วยแผงโซลาร์ลอยน้ำเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในแอฟริกาได้ถึงปีละ 50%

อย่างไรก็ตาม ยังมีอันตรายจากพลังงานโซลาร์ลอยน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ที่โรงงานแห่งหนึ่งซึ่งถูกไฟไหม้ในจังหวัดชิบะของประเทศญี่ปุ่นในปี 2019 ซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวโทษว่า เกิดจากพายุไต้ฝุ่นทำให้แผงโซลาร์ลอยเคลื่อนทับกัน จนเกิดความร้อนจัดและอาจเกิดประกายไฟที่โรงงานขนาด 180,000 ตร.ม. ที่มีแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำมากกว่า 50,000 แผงที่เขื่อนยามาคุระ

ส่วนอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในวงกว้างในปัจจุบัน ก็คือเรื่องของราคา การสร้างแผงโซลาร์ลอยน้ำมีราคาแพงกว่าการติดตั้งบนบกที่มีขนาดใกล้เคียงกัน

แต่ด้วยต้นทุนที่สูงกว่า ก็ย่อมมีประโยชน์ที่มากกว่า เนื่องจากการระบายความร้อนของแหล่งน้ำ แผงโซลาร์ลอยน้ำจึงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไป นอกจากนี้ยังช่วยลดการเปิดรับแสงและลดอุณหภูมิของน้ำ ตลอดจนลดการเจริญเติบโตของสาหร่ายที่เป็นอันตรายอีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม : Fi Asia 2022 เทรนด์อาหารแห่งอนาคต ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์เพื่อคว้าโอกาส

Fi Asia 2022 เทรนด์อาหารแห่งอนาคต ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์เพื่อคว้าโอกาส

Fi Asia 2022 เวทีแสดงสินค้าอุตสาหกรรมส่วนผสมอาหาร-เครื่องดื่ม กับเทรนด์อาหารทั่วโลก ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ธุรกิจ และวิถีชีวิตผู้บริโภค

ยกทัพนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตทั่วโลกมาไว้ที่ประเทศไทย กับงาน “ฟู้ด อินกรีเดียนส์ เอเชีย ประเทศไทย 2022  หรือ Food ingredients (Fi Asia 2022)” เวทีแสดงสินค้าอุตสาหกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มและการประชุมนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารไทย ภายในงานมีทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหาร เทคโนโลยีอาหาร พร้อมการเจรจาธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมเสวนาโดยทางผู้ประกอบการอาหาร ในหัวข้อ “Food and Packaging Safety  : Thailand – Japan in Perspective” และการสัมมนา InnoFood  Academe  2022 :  Novel Food : เปิดมุมมอง สร้างโอกาส ด้วยอาหารนวัตกรรมใหม่  เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการ นำไปสู่การต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

เทคโนโลยีมีอะไรบ้าง

ตัวอย่างนวัตกรรมอาหารจากงาน Fi Asia 2022 ไว้ในประเด็นดังนี้

  • เทรนด์อาหารปี 2023 ขานรับ ‘Healthy-Safety-Save the Earth’
  1. Food for Your Mood : เศรษฐกิจสุขภาพจิตทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 120,800 ล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มสารอาหารที่ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทและสมอง (Brain-Boosting Nutraceuticals) มีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3
  2. Good for Gut : ผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) และโพรไบโอติกส์ (Probiotics) มาแรงในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
  3. Eating Experience : ผู้บริโภคโหยหาประสบการณ์ใหม่ จากอาหารและเครื่องดื่ม มีความคาดหวังที่จะหลุดจากกรอบเดิม ๆ ทั้งในมิติของรสชาติ กลิ่น สี รสสัมผัส ไปจนถึงแพ็คเกจที่แปลกใหม่
  4. Upcycling and Sustainable Foods : ไม่ใช่แค่ความอร่อยที่ปลายลิ้น แต่กระบวนการผลิต ความรับผลิตชอบต่อแรงงาน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการปลูกและปศุสัตว์ การปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ไปจนถึงแพคเกจก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคใส่ใจ
  5. Food Subscription : ตลาด Personalized Food เติบโตเฉลี่ยปีละ 14.2% โดยเฉพาะโมเดลบริการจัดส่งอาหารออแกนิคเฉพาะบุคคล ที่จัดสัดส่วนของอาหารให้ตรงตามกับเป้าหมายทางด้านสุขภาพ
  6. Immunity Balance : อาหารที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยเติมเต็มความต้องการสารอาหาร ที่จะช่วยเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ถดถอยสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปกป้องร่างกายจากความเจ็บป่วยได้
  7. 50 Shades of Milk : ผู้บริโภคต้องการเห็นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ non-dairy มากขึ้น โดยนมในกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ทางเลือกอย่างถั่วที่รวมถึงอัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ ข้าวโอ๊ต ธัญพืชและเมล็ดพืชต่าง ๆ
  8. Digitalization : ผู้ผลิตอาหารต่างประเทศตื่นตัวอย่างมากในการนำ Machine Learning จาก AI และ Big DATA มาใช้เพื่อช่วยให้สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายและคู่แข่ง ตลอดเข้าใจแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในตลาด
  9. Fantastic “Protein” and where to find them : โอกาสของแหล่งโปรตีนใหม่ ๆ เช่น โปรตีนจากแมลง พืช

เทคโนโลยีใหม่ๆ

  • นวัตกรรม “กินดี อยู่ดี สุขภาพดี”

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำผลงานนวัตกรรมด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากธรรมชาติ ได้แก่ อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติก นวัตกรรมผลผลิตทางการเกษตร มาจัดแสดง

ยกตัวอย่างเช่น ข้าวผสมซีรีเนียม การเพิ่มปริมาณสังกะสีในกระบวนการปลูกข้าวโพดหวานและพริก รวมทั้งบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ เช่น กล่องล็อกกลิ่นทุเรียน 100% บรรจุภัณฑ์จำหน่ายมะม่วงออนไลน์ เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่นำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ

เทคโนโลยีของ วว. มีความโดดเด่นด้านระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100-40,000 ลิตร เป็นระบบการเพาะเลี้ยงแบบต่อเนื่องและครบวงจร ปริมาตรรวม 400,000 ลิตร ที่พร้อมให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม

  • พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความ “เป็นเมือง” มากขึ้น

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท วีฟู้ดส์ จำกัด (V Foods) ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวโพด น้ำนมข้าวโพด และอาหารสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ “วี คอร์น” (V Corn) และ “วี ฟาร์ม” (V Farm) กล่าวว่า วีฟู้ดส์ก่อตั้ง 9 ปี มีกลยุทธ์คือ การศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เพราะมันจะมีการเปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุค และก็ดูเทรนด์ทิศทางของโลก พบว่า เทรนด์โลกมีความเป็นเมืองมากขึ้น

หมายความว่า อาหารการกินจะสะดวกต่อการซื้อ 24 ชั่วโมง สั่งเดลิเวอรี่ผ่านมือถือได้ คนจะให้สำคัญกับสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการทำปศุสัตว์ ลดบริโภคเนื้อ ทว่า สิ่งที่สำคัญคือ “ความเป็นเมืองจะทำให้คนเกิดโรคในกลุ่ม NCDs มากขึ้น”

เนื่องจากอาหารที่บริโภคเข้าไปเกิดผลเสียต่อสุขภาพที่ตามมา ดังนั้น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพจะสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านภาคการเกษตร แต่ยังต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ จากต่างประเทศ ทำให้การขับเคลื่อน “อาหารทางเลือก หรือโปรตีนจากพืช (Plant Besed) เป็นสิ่งที่ค่อนข้างสวนทางกันอยู่”

นอกจากนี้ ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (ESG) หรือการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มักถูกกล่าวหามาตลอดว่าเป็นตัวการหลักทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ทำลายสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ฉะนั้นกระบวนการผลิตสินค้าจะต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Food Journey)

  • คลื่นลูกใหม่ช่วยขับเคลื่อนอาหารแห่งอนาคต

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานสมาคมสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย (TFA) กล่าวว่า สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดตัวเมื่อปลายเดือนกันยายน 2565 เป็นการรวมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการอาหารเพื่อขับเคลื่อนคลื่นลูกใหม่ สำรวจเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป ใช้เป็นข้อมูลมาพัฒนาอาหารภายในประเทศ

โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มคนกินเจ ตลอดจนกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ได้เจาะลึกประเภท โปรตีนทางเลือก (Alternetive Protien) อาทิ เนื้อเทียมที่เพาะในห้องแล็บ ซึ่งต้องขอทดลองในห้องแล็บ ไทยยังไม่อนุญาต แต่สิงคโปรอนุญาตแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ต้องชวนกันขับเคลื่อนต่อไป

นอกจากนี้ก็มีแพลนท์เบสโปรตีน อีกตัวที่ไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีคือ โปรตีนที่มาจากแมลง เพราะไทยมีระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเลี้ยงแมลง สามารถสร้างเส้นใยในโปรตีนได้

“การเกิดขึ้นของสมาคมฯ เพราะเราต้องการทำให้แพลนท์เบสหรืออาหารเพื่อสุขภาพให้ถูกพูดถึงมากขึ้น ทั้งด้านของการทำให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์ และในด้านการช่วยขับเคลื่อนให้ไทยสามารถเป็นประเทศที่ผลิตวัตถุดิบที่นำมาใช้กับแพลนท์เบสได้เองโดยไม่ต้องอาศัยการนำเข้าจากประเทศอื่น” วิศิษฐ์ กล่าว

ส่วนด้านนโยบาย คือ การทำให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญและทำให้เกิดเงินทุนสนับสนุนแก่เกษตรกรที่สร้างผลผลิต วัตถุดิบภายในประเทศ ทางด้าน วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา ประธานกรรมการบริหารบริษัท สยาม มอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายของอาหารแพลนท์เบสคือเรื่องของรสชาติ และผิวสัมผัส จะทำอย่างไรให้มีความใกล้เคียงเนื้อสัตว์ของจริงมากที่สุด แต่เชื่อว่าคนไทยสามารถทำได้ เพราะคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์